
สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites หรือ ICOMOS) คือองค์กรวิชาชีพทางมรดกทางวัฒนธรรมในระดับสากล ซึ่งมีเป้าหมายการทำงาน เพื่อการอนุรักษ์ และปกป้องคุ้มครองโบราณสถานในลักษณะขององค์กรอิสระNGO ที่จะมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการของ UNESCO โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคณะกรรมการมรดกโลก ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1965 ณ กรุงวอร์ซอว์ ประเทศ โปแลนด์ 1 ปี หลังจากการประกาศกฎบัตรเพื่อการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถาน "เวนิชชาร์เตอร์" ปัจจุบันมี สำนักงานของฝ่ายเลขานุการอยู่ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ICOMOS มีบทบาทหน้าที่ ดังนี้
- เป็นเวทีในระดับระหว่างประเทศในการเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ผ่านทางเว็บไซต์ จดหมายข่าว วารสารวิชาการ และการจัดการประชุม สัมมนาต่างๆ รวมทั้งการประชุมสามัญ ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี
- เป็นเครือข่ายของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรม ด้วยการรวมกลุ่มของคณะกรรมการ โบราณสถานระดับชาติ (National Committee) ของประเทศสมาชิกชาติต่างๆมากกว่า 110 ประเทศ ที่จะได้มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันผู้เชี่ยวชาญ และประสบการณ์ซึ่งกันและกันโดยตรง หรือจากการรวมกลุ่ม เฉพาะทางในรูปของคณะกรรมการระหว่างประเทศ (International Scientific Committee)
- ให้การช่วยเหลือในการแก้ปัญหา หรือสนับสนุนโครงการในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมขององค์กรต่างๆ ทั้งในระดับชาติ และระดับระหว่างประเทศ
- ให้คำแนะนำ และเป็นผู้กำหนดข้อตกลงระดับระหว่างประเทศ กฎบัตร และแนวทางปฏิบัติต่างๆ เพื่อการปฏิบัติ ทางด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในแนวทางที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ คณะกรรมการโบราณสถานแห่งชาติว่าด้วยสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) หรือที่เรียกว่า "ICOMOS Thailand" ได้แก่ คณะกรรมการระดับชาติ (National Committee) คณะกรรมการหนึ่งของ ICOMOS ในฐานะตัวแทนของประเทศไทยนั่นเอง โดยประธานคณะกรรมการฯของแต่ละชาติยังมีฐานะเป็นกรรมการ ของคณะกรรมการที่ปรึกษาของ ICOMOS (Advisory Committee) ซึ่งสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้ได้อีกด้วย
คณะกรรมการโบราณสถานแห่งชาติว่าด้วยสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) มีประวัติการก่อตั้งเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2528 ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเห็นชอบและอนุมัติให้แต่งตั้ง คณะกรรมการโบราณสถานแห่งชาติ สำหรับสภาระหว่างชาติว่าด้วยโบราณสถาน และแหล่งโบราณคดี (Thailand National committee for ICOMOS) มีจำนวนกรรมการทั้งสิ้น 25 ท่าน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการ และอธิบดีกรมศิลปากร เป็นกรรมการและเลขานุการ ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2532 นายนิคม มูสิกะคามะ ผู้อำนวยการกองโบราณคดี ในขณะนั้น ได้เสนอขอความเห็นชอบ ให้ตั้ง"คณะกรรมการโบราณสถานแห่งชาติ สำหรับสภาการโบราณสถาน และโบราณคดีระหว่างประเทศ (ICOMOS)" ขึ้นใหม่เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน และประสานงานกับ ICOMOS โดยลดจำนวนกรรมการเหลือ 12 ท่าน โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และผู้อำนวยการกองโบราณคดี เป็นกรรมการและเลขานุการ
อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติ การดำเนินการของคณะกรรมการฯ ก็ยังคงไม่มีความคล่องตัวเท่าที่ควร จึงได้มีการปรับคณะกรรมการอีกครั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ.2542 โดยคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศก.841/2542 เรื่องแต่งตั้ง คณะกรรมการโบราณสถานแห่งชาติว่าด้วยสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) โดยคงจำนวนกรรมการที่ 12 ท่าน มีนายสุวิชญ์ รัศมิภูติ เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการกองโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ และล่าสุดได้แก่การปรับปรุงคณะกรรมการฯ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างระบบราชการ และเพิ่มเติมคณะกรรมการให้ครอบคลุมถึงสายวิชาชีพต่างๆที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น ในครั้งนี้ประกอบด้วย คณะกรรมการ และเหรัญญิก 21 ท่าน โดยมีนายสุวิชญ์ รัศมิภูติ และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นที่ปรึกษา อธิบดีกรมศิลปากรเป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี เป็นกรรมการและเลขานุการ ตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการฯ ตังแต่วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2546
กิจกรรมในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้แก่การประกาศระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2528 ตามแนวทางของกฎบัตรเวนิช การเดินทางไปเข้าร่วมประชุมในการประชุมสามัญของICOMOS และการประชุมทางวิชาการของคณะกรรมการวิชาการระหว่างประเทศของ ICOMOS ซึ่งกรรมการบางท่านเป็นสมาชิก เช่น คณะกรรมการว่าด้วยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (CIAV) การเดินทางไปให้คำแนะนำในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการประเมินแหล่งมรดกโลก การจัดการประชุมวิชาการ และการประชุมของคณะกรรมการวิชาการระหว่างประเทศ เช่นการประชุมเรื่อง สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในปี 2540 ซึ่งสรุปผลจากการประชุมได้นำไปประกาศเป็นกฎบัตรว่าด้วยมรดกสิ่งก่อสร้างพื้น ถิ่น รับรองในที่ประชุมสามัญครั้งที่ 12 ณ ประเทศเม็กซิโก นอกจากนี้ ยังมีการให้ความร่วมมือเกี่ยวกับข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ซึ่งมีการติดต่อกับฝ่ายเลขานุการของ ICOMOS ทางอินเตอร์เน็ต มาโดยตลอด และยังเคยมีการจัดประกวดแบบแนวความคิดเอกลัษณ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่น ในปีพ.ศ. 2542 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของคณะกรรมการยังคงมีความจำเป็น ต้องมีการปรับปรุง พัฒนา และเผยแพร่ให้กว้างขึ้นต่อไป
http://www.icomosthai.org/
No comments:
Post a Comment