February 21, 2013

February 18, 2013

[ศิลปินแห่งชาติ • ๒๕๔๑] พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น | Air Vice Marshal Arvuth Ngoenchuklin • ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) พุทธศักราช ๒๕๔๑


พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น พลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
๑๕ มีนาคม ๒๕๔๔ | 
นิติกร กรัยวิเชียร : ช่างภาพ

พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น 
Air Vice Marshal Arvuth Ngoenchuklin
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) พุทธศักราช ๒๕๔๑

พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น มีผลงานดีเด่น ทางด้านการอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ เคยได้รับมอบหมายให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวังในส่วนของ พระมณฑป หอพระมณเฑียรธรรมปราสาทพระเทพบิดร พระศรีรัตนเจดีย์ พระสุวรรณเจดีย์ หอพระนาก ช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันพระอุโบสถ ท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานฯลฯ ออกแบบอาคารต่างๆ ในบริเวณ ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯในส่วนของศาลหลักเมือง ศาลเทพารักษ์และหอพระพุทธรูป ออกแบบลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ พลับพลารับพระราชอาคันตุกะ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร มีผลงานด้านสถาปัตยกรรมที่ โดดเด่นเป็นจำนวนมาก ผลงานอันเป็นที่กล่าวขานทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้แก่ การออกแบบพระเมรุมาศ ประดับด้วยศิลปกรรมตกแต่งอย่างงดงาม แสดงถึงความเป็นเลิศในงานสถาปัตยกรรมไทย

--------------------------------------

พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น 
Air Vice Marshal Arvuth Ngoenchuklin
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) พุทธศักราช ๒๕๔๑


สกุลไทย ฉบับที่ 2428 ปีที่ 47 ประจำวันอังคารที่ 1 พฤษภาคม 2544
โดย  นิติกร กรัยวิเชียร


 บรรพบุรุษไทยในอดีตกาล ได้ใช้ภูมิปัญญา ฝีมือ ตลอดจนจินตนาการอันเลิศล้ำสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยที่วิจิตรพิสดาร ฝากไว้บนแผ่นดินไทยให้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าแก่พวกเราทุกคน แต่ผลงานเหล่านั้นก็ย่อมเก่าแก่ทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ที่มีความรู้และความสามารถอย่างลึกซึ้งที่จะดูแลซ่อมแซมผลงานอันทรงค่าเหล่านั้นไว้ให้คงสภาพที่แข็งแรงและงดงามดังเดิมให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งยังต้องสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ที่คงไว้ซึ่งแบบฉบับของงานสถาปัตยกรรมไทยที่ถูกต้องงดงามต่อไปด้วย

นับว่าคนไทยเรายังโชคดีที่มีบุคลากรที่มีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วนอยู่หลายท่าน หนึ่งในท่านเหล่านั้นก็คือ นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น อธิบดีกรมศิลปากรท่านปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๔) ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๑

นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ ๕๙ ปี ท่านได้รับการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนวัจนรัตน์ ต่อด้วยโรงเรียนวัดราชโอรสจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อทางศิลปะที่โรงเรียนศิลปะศึกษา เป็นเวลา ๒ ปี ก็สามารถสอบเข้าศึกษาที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ ณ ที่นั้น ท่านได้เรียนรู้ทั้งทางด้านศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมไทย กับครูบาอาจารย์ท่านสำคัญหลายท่าน อาทิ ศาสตราจารย์พระพรหมพิจิตร อาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี อาจารย์พินิจ สุวรรณบุณย์ อาจารย์ชม้อย อุดมศิลป์ อาจารย์แต้ม จั่นถมยา ฯลฯ ทั้งยังได้ศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย กับ ศาสตราจารย์อัน นิมมานเหมินท์ อีกด้วย

หลังจากที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ท่านได้เข้ารับราชการในตำแหน่งสถาปนิกประจำกองทัพอากาศจนได้รับพระราชทานยศเรืออากาศเอก จึงได้โอนมารับราชการที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เมื่อปี ๒๕๑๘ จากนั้น เมื่อปี ๒๕๒๑ ท่านก็ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งสถาปนิกประจำกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ตลอดระยะเวลาที่รับราชการที่กรมศิลปากรนี้ ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้ความสามารถจนมีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญยิ่งขึ้นโดยลำดับ จนถึงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งท่านยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

ผลงานสำคัญของ นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น มีทั้งงานด้านอนุรักษ์ และออกแบบสร้างสรรค์ผลงานทางด้านสถาปัตยกรรม อันได้แก่

                - การกำหนดรูปแบบและรายการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ระยะที่ ๓ ตั้งแต่เสาหารและฐานชั้นล่าง เมื่อปี ๒๕๒๒
                - เป็นกำลังสำคัญในการกำหนดรูปแบบและรายการ และควบคุมการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง ระหว่างปี ๒๕๒๒-๒๕๒๕ จนสำเร็จเรียบร้อยทันพระราชพิธีมหามงคลสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี เมื่อปี ๒๕๒๕
                - ออกแบบอาคารต่างๆ ในบริเวณศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ระหว่างปี ๒๕๒๗-๒๕๒๘
                - การกำหนดรูปแบบและรายการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร หลายรายการ เมื่อปี ๒๕๒๙-๒๕๓๕
                - การออกแบบอาคารต่างๆ รวมทั้งแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดจนจัดผังบริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เมื่อปี ๒๕๓๔
                - การกำหนดรูปแบบและรายการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์และอาคารภายในบริเวณพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย ตลอดจนจัดผังบริเวณใหม่ เมื่อปี ๒๕๓๕
                - กำหนดแบบทรวดทรงและลวดลาย ตลอดจนควบคุมการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เมื่อปี ๒๕๓๗
                - ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระเมรุมาศ และอาคารรายรอบที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตลอดจนกำหนดรายการบูรณะเครื่องใช้ในพระราชพิธีหลายรายการ เมื่อปี ๒๕๓๘
                - ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระที่นั่งและอาคารประกอบในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เมื่อปี ๒๕๓๙
                - ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระที่นั่งสันติชัยปราการ ซึ่งรัฐบาลจัดสร้างเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ


                นอกจากผลงานดังกล่าวแล้ว นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรและอาจารย์พิเศษ บรรยายวิชาและเรื่องราวเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ตลอดจนศิลปะวัฒนธรรมไทยให้แก่นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ จากเกียรติประวัติต่างๆ นี้ ทำให้ท่านได้รับเกียรติคุณต่างๆ หลายประการ ได้แก่
                - ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สถาปัตยกรรมไทย) เมื่อปี ๒๕๓๙
                - ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๓๙
                - ได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็นผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นด้านสถาปัตยกรรมไทย ประเภทบุคคล จากสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อปี ๒๕๔๐
                - ได้รับพระราชทานเลื่อนยศจากเรืออากาศเอก เป็นนาวาอากาศเอก เมื่อปี ๒๕๔๐


สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ประจักษ์ในเกียรติประวัติอันงดงามตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาของ นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น จึงได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๑


ท่านอธิบดีอาวุธได้กรุณาสละเวลาอันมีค่าของท่าน เดินทางไปให้ผมถ่ายภาพที่ศาลาไทย ในบริเวณลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์ อันเป็นผลงานออกแบบสำคัญชิ้นหนึ่งของท่านในช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๔ ในปัจจุบันศาลาไทยดังกล่าวนี้ กรุงเทพมหานครใช้เป็นที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชอาคันตุกะองค์ล่าสุดที่เสด็จพระราชดำเนินมาที่นี่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็คือสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก

ผมได้ไปเดินสำรวจสถานที่นี้ก่อนที่จะถ่ายภาพท่านอธิบดีอาวุธ ๑ วัน เพื่อเลือกหามุมที่เหมาะสมสำหรับถ่ายภาพ และเพื่อดูสภาพแสงที่จะใช้ถ่ายภาพจนได้ข้อสรุปว่าคงจะต้องใช้ไฟถ่ายภาพช่วย เนื่องจากแสงที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นค่อนข้างน้อย และแสงที่สะท้อนขึ้นมาจากพื้นเบื้องล่างก็จะทำให้ใบหน้าดูแปลก ไม่ดีเท่าที่ควร ในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันนัดถ่ายภาพ ผมจึงได้เตรียมไฟถ่ายภาพไปด้วย ๒ ดวง โดยใช้ร่มสะท้อนแสงเพื่อช่วยทำให้แสงดูนุ่มนวล ผมได้ขอให้ท่านอธิบดีอาวุธยืนในตำแหน่งและในท่าทางที่ผมได้วางเอาไว้ล่วงหน้า ทำให้การถ่ายภาพเป็นไปอย่างเรียบร้อยในระยะเวลาอันสั้น ตลอดระยะเวลาของการถ่ายภาพ ผมได้มีโอกาสพูดคุยขอความรู้จากท่านมากมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องงานออกแบบของท่านรวมทั้งเรื่องโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ผมสนใจ ซึ่งนอกจากจะได้รู้ในหลายสิ่งที่ไม่เคยรู้แล้ว ยังทำให้ท่านอธิบดีรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เกิดอาการเครียดหรือเกร็งอีกด้วย หลังจากที่ถ่ายภาพภายในศาลาแล้ว ผมก็ได้ขอถ่ายภาพท่านภายนอกโดยมีศาลาไทยดังกล่าวเป็นฉากหลังเอาไว้ด้วย แต่เนื่องจากลักษณะดังกล่าวนี้ คล้ายกับที่ผมเคยถ่ายภาพอาจารย์ภิญโญ สุวรรณคีรี และ อาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี มาแล้ว จึงได้เลือกภาพภายในศาลาที่ผมเห็นว่ามีความน่าสนใจแตกต่างไปอีกแนวหนึ่งมาเป็นภาพหลักให้ได้ชมกันนี่แหละครับ

ผลงานของนาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าท่านเป็นสถาปนิกที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งเกียรติประวัติของท่านจะต้องได้รับการจารึกไว้อีกนานเท่านาน